ในช่วงปีที่ผ่านมา (2559) เชื่อว่าหลายคนคงจะคุ้นๆ หู หรือเคยได้ยินกับคำว่า ประเทศไทย 4.0 หรือ Thailand 4.0 กันมาบ้าง แต่ปัญหาก็คือ แล้ว Thailand 4.0 คืออะไร จะช่วยพัฒนาประเทศหรือเศรษฐกิจของเราไปในทิศทางไหน แล้วภาครัฐมีนโยบายอย่างไร เรามาทำความเข้าใจให้กระจ่างมากยิ่งขึ้นกันค่ะ ประเทศไทย 4.0 หรือ Thailand 4.0 คือ วิสัยทัศน์เชิงนโยบายเปลี่ยนเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนไปด้วยนวัตกรรมและนำพาประชาชนทั้งประเทศไปสู่โมเดลประเทศไทย 4.0 ภายใต้การบริหารประเทศของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เข้ามาบริหารประเทศบนวิสัยทัศน์แบบที่ว่า มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน และกว่าจะมาเป็น Thailand 4.0 ได้ก็ต้องผ่าน Thailand 1.0 , Thailand 2.0 และ Thailand 3.0 กันมาก่อน ประเทศไทย 1.0 ยุคของเกษตรกรรมคนไทยปลูกข้าว เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู ปลูกพืชสวน พืชไร่ แล้วนำผลผลิตเพื่อส่งไปขายสร้างรายได้ในการดำรงชีวิต ประเทศไทย 2.0 ยุคของอุตสาหกรรมเบา ในยุคนี้ใช้แรงงานที่มีราคาถูก แต่เริ่มจะมีเครื่องไม้เครื่องมือเข้ามาช่วยผลิต เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องดื่ม เครื่องเขียน เครื่องประดับ อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งในยุคนี้ประเทศเริ่มมีศักยภาพมากขึ้น ประเทศไทย 3.0 ยุคที่เราอยู่ในขณะนี้ เป็นยุคอุตสาหกรรมหนัก ผลิตและขายส่งออกเหล็กกล้า รถยนต์ ก๊าชธรรมชาติ และปูนซีเมนต์ เป็นต้น โดยพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพื่อเน้นการส่งออกเป็นหลัก และประเทศไทย 4.0 เปลี่ยนให้มีรายได้สูงขึ้น ในช่วงแรกประเทศไทย 3.0 มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ว่าปัจจุบันกลับเติบโตได้เพียงแค่ร้อยละ 3 4 ต่อปีเท่านั้น ทำให้ประเทศไทยต้องตกอยู่ในภาวะรายได้ปานกลางเป็นเวลากว่า 20 ปี ในขณะที่ทั่วโลกมีการแข่งขันที่สูงขึ้น ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องเปลี่ยนสู่ยุคประเทศไทย 4.0 ให้เป็นเศรษฐกิจใหม่ (New Engines of Growth) เพื่อให้ประเทศไทยกลายเป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงขึ้นนั่นเอง โดยตั้งเป้าหมายว่าจะให้เกิดภายใน 3 -5 ปีข้างหน้านี้ ประเทศไทย 4.0 เปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ปัจจุบันประเทศไทยยังติดอยู่กับโมเดลทำมากได้น้อย จึงต้องการปรับเปลี่ยนให้เป็นทำน้อยได้มาก ต้องเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่สินค้านวัตกรรม และเปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม อย่างการเกษตรต้องเปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การเกษตรแบบสมัยใหม่ ที่มีการเน้นเรื่องการบริหารจัดการ โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ หรือที่เรียกว่า Smart Farming โดยเกษตรกรต้องเริ่มรวยขึ้นและเป็นเกษตรกรที่ผู้ประกอบการเปลี่ยนจาก SME แบบเดิมไปสู่ Smart Enterprises และ Startup ที่มีศักยภาพสูง และเปลี่ยนจากแรงงานทักษะต่ำไปสู่แรงงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและทักษะสูงขึ้น ประเทศไทย 4.0 ต้องใช้แนวทางพลังประชารัฐ การขับเคลื่อน ประเทศไทย 4.0 ให้สำเร็จได้ใช้แนวทางพลังประชารัฐ โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน การค้า-อุตสาหกรรม การเกษตร ธนาคาร ประชาชน ชุมชน จังหวัด สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยต่าง ๆ ประกอบกับการส่งเสริม SME และ Startup เพื่อขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้แล้วยังต้องมีโครงสร้างโทรคมนาคมและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงมีอินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุมในทุกพื้นที่ให้มากที่สุด เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายได้ทุกพื้นที่ในประเทศไทยแบบไม่มีสะดุด อย่างไรก็ดี หากเข้ายุค 4.0 เชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น ภาคอุตสาหกรรมจะผลิตสินค้าได้มากขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อจะหายไป แต่ต้องระมัดระวังอาจเกิดเป็นภาวะเงินฝืดเข้ามาทดแทน ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องเตรียมป้องกันและรับมือ เพราะการเปลี่ยนแปลงของโลก 4.0 มีทั้งวิกฤติและโอกาสที่ต้องก้าวให้ทัน หากยังไม่มีปรับตัวก็จะไม่สามารถอยู่รอดได้